วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มาชมความสวยงามดอยหลวงเชียงดาวกันเถอะ !!!


ดอยหลวงเชียงดาวยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย

ดอยเชียงดาว มี ลักษณะเป็นเทือกเขา ซึ่งเทือกเขาเหล่านี้ประกอบไปด้วยยอดเขาสูงหลายยอด ยอดเขาที่สูงที่สุดเรียกว่าดอยหลวงเชียงดาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,220 เมตรครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง ตำบลเมืองงาย ตำบลเมืองคลง ตำบลเชียงดาวและตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
มีพื้นที่ประมาณ 521 ตารางกิโลเมตรหรือ 325,625 ไร่ ละติจูดที่ 19^ 21 ‘ ถึง 19^ 27′ เหนือ และลองติจูดที่ 98^ 50′ ถึง 98^ 58′ ตะวันออก
ดอยหลวงเชียงดาว สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ สูงถึง 2,275 เมตร รองจากดอยอินทนนท์ 2,565 เมตร และดอยผ้าห่มปก 2,285 เมตร และยังเป็นเทือกเขาหินปูนที่มีความสูงมากที่สุดในไทย ดอยหลวงเชียงดาว ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2521
ในสมัยโบราณดอยเชียงดาวถูกเรียกว่า “ ดอยอ่างสลุง ” ซึ่ง ชาวเชียงใหม่เชื่อกันตามตำนานเมืองเชียงใหม่ว่าเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาพร้อมพระอรหันต์ 8 องค์ทรงลงสรงน้ำในสลุงทองคำหรือบริเวณอ่างสลุงนั่นเอง บางคนเรียกดอยแห่งนี้ว่า “ ดอยหลวง ” เนื่องจากเป็นดอยที่มีขนาดสูงใหญ่ (“ หลวง ” หมายความว่า “ ใหญ่ ” ) เพี้ยนเป็น“ ดอยหลวงเพียงดาว ” จนกระทั่งกลายมาเป็น “ ดอยหลวงเชียงดาว ” หรือ “ดอยเชียงดาว ” ในปัจจุบัน
ดอยหลวงเชียงดาว ประกอบด้วยยอดเขาสำคัญ คือยอดสูงสุดดอยหลวงเชียงดาว สูงจากระดับน้ำทะเล 2,225 เมตร และยังมียอดเขาอีกหลายยอดที่มีความสูงโดดเด่น สามารถชมทิวทัศน์ได้แตกต่างกันออกไป เช่น ดอยกิ่วลมสูงจากระดับน้ำทะเล 2,140 เมตร และดอยเหนือหรือดอยพีระมิดสูงจากระดับน้ำทะเล 2,175 เมตร ดอยหนอกสูงจากระดับน้ำทะเล 2,000 เมตร และดอยสามพี่น้องสูงจากระดับน้ำทะเล 2,150 เมตร
ยอดเขาลูกต่างๆ ที่อนุญาตให้ขึ้นไปท่องเที่ยวทั้งหมด 3 ยอดด้วยกัน คือ ยอดดอยสามพี่น้อง ยอดดอยกิ่วลม และยอดดอยสูงสุด
ดอยหลวงเชียงดาวเป็นภูเขาหินปูนล้วนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย เป็นภูเขาหินปูนที่เกิดขึ้นในยุคเพอร์เมียน (Permian) มีอายุระหว่าง 230-250 ล้านปี เป็นหมู่หินราชบุรีของไทย ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนทะเล และซากสัตว์ที่มีหินปูน สันนิษฐานว่า พื้นที่ในบริเวณนี้ในอดีต เคยเป็นท้องทะเลมาก่อนที่การตกตะกอนทับถมของซากสิ่งมีชีวิต เช่น ปะการังและหอย

บนยอดดอยหลวงเชียงดาวอากาศค่อนข้างหนาว เพราะว่ามีลมพัดตลอด เมื่อยืนอยู่บนยอดดอยจะเห็นวิว 360 องศา มองไปด้านหน้าก็เป็นมุมพระอาทิตย์ขึ้น มองไปด้านหลังก็เห็นดอยสามพี่น้องและดอยปิรามิดยืนโดดเด่นอยู่ท่ามกลางทะเล หมอกสีขาวนวลตา เมื่อมองลงมายังเบื้องล่างจะเห็นเขาสลับซับซ้อน ทอดตัวยาวไกลสุดลูกหูลูกตา ถ้ามองมาทางด้านตะวันออก จะมองเห็นเป็นพื้นราบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองงาย บนยอดดอยหลวงเชียงดาวจึงเหมาะที่จะเป็นที่ชมวิว เพราะไม่มีอะไรมาบดบังสายตา เราสามารถที่จะเห็นยอดเขาทุกลูก ณ จุดนี้ และบนยอดดอยแห่งนี้ก็เหมาะสำหรับการชมพระอาทิตย์ตก



ดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว พื้นที่ต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์และสำคัญของแม่น้ำปิง เป็นแหล่งรวมพันธุ์พฤกษชาติจำนวนมากที่หายาก (rare species ) และพืชถิ่นเดียว (endemic species)โดยเฉพาะบริเวณสันเขาและยอดดอยที่ระดับความสูงเกินกว่า 1,900 เมตร มีสภาพพืชพรรณไม้กึ่งอัลไพน์ (sub-alpine ) ที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย พรรณ ไม้เหล่านี้จะออกดอกบานสะพรั่งตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในกลางฤดูฝน จนถึงต้นฤดูหนาว ตัวอย่างพรรณพืชหายากที่พบบนดอยเชียงดาว สังเกตได้จากชื่อที่ตั้งไว้ให้รู้เลยว่าเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่นี่เท่านั้น ตัวอย่างเช่น ค้อเชียงดาว ( Trachycarpus oreophilus ) , สิงโตเชียงดาว ( Bulbophyllum albibracteum ), สิงโตขนตาขาว( B.comosum ), สิงโตตาแดง ( B. muscarirubrum ), สิงโตเล็บเหยี่ยว( B. wendlandianum ),อั้วปากฝอยเชียงดาว( Habenaria limprichtii ), งูเขียวปากม่วง( Luisia thailandica ),รองเท้านารีเมืองกาญจน์ ( Paphiopedilum parishii ), เอื้องนางเทียน( Papilionanthe biswasiana ) นอกจากนั้นยังมีพรรณไม้ที่โดดเด่นทั้งสวย ทั้งแปลก และมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวอยู่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทียนนกแก้ว ( Impatiens psittacina ) ที่ให้ดอกเป็นรูปร่างเหมือนนกแก้ว, ค้อเชียงดาวหรือปาล์มรักเมฆ ที่สามารถขึ้นได้ในสภาพหินปูนและยืนต้นท้าแรงลมอยู่ตามไหล่เขาได้อย่างน่าอัศจรรย์, เหยื่อจงหรือเทียนหมอคา ซึ่งเป็นเทียนที่ใหญ่ที่สุด, ชมพู พิมพ์ใจ ที่มีกลิ่นหอมชวนให้ดมดอมเสียเหลือเกิน หรือแม้แต่กุหลาบเลื้อยเชียงดาวหรือศรีจันทรา ที่เค้าว่าสวยงามยิ่งนักยามที่มันต้องแสงจันทร์ในเวลาค่ำคืน